เงินบาทอ่อนค่า หลังนักลงทุนยังคงวิตกกังวลผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 (โคโรน่า)
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/2) ที่ระดับ 31.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (17/2) ที่ระดับ 31.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งล่าสุดองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ออกมาระบุว่า การเติบโตทางการค้าโลก ยังคงมีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่องในต้นปี 2563 จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (โคโรน่า) นับเป็นการซ้ำเติมการค้าทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากมาตรการภาษีศุลกากร และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ ดัชนีวัดการค้าโลกซึ่งจัดทำโดย WTO ในเดือนกุมภาพันธ์นั้น ลดลงมาสู่ระดับ 95.5 จากระดับ 96.6 ในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 100 บ่งชี้ว่า การขยายตัวของการค้าโลกยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าแนวโน้มในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าการขยายตัวของการค้าโลกจะชะลอตัวลงอีกในไตรมาสแรกของปี 2563
นอกจากนี้ ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศล่าสุด นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก (สรท.) ได้คาดการณ์ว่าการส่งออกไทยในไตรมาสแรกของปีนี้จะหดตัวราว ๆ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สรท.ยังคงประมาณการการเติบโตของการส่งออกทั้งปี 2563 ไว้ที่ 0-1% หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลงในครึ่งปีหลังซึ่งคาดว่าทางจีนจะกลับมาเร่งการนำเข้าเพื่อผลิตชดเชยที่หยุดชะงักไปในช่วงครึ่งปีแรก โดยทาง สรท.อาจมีการปรับประมาณการอีกครั้ง หากมีการเปิดเผยตัวเลขการส่งออกในไตรมาสแรกแล้ว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.20-31.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/2) ที่ระดับ 108.26/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/2) ที่ระดับ 1.0842/44 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง ภายหลังสหรัฐเปิดเผยว่า จะปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเครื่องบินจากสหภาพยุโรป (EU) เป็น 15% จากเดิมที่ร้อยละ 10% ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างสองฝ่ายเกี่ยวกับการให้เงินอุดหนุนบริษัทแอร์บัสซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องบินของฝรั่งเศส โดยอัตราภาษีใหม่ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 มี.ค.นี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงรอติดตามผลสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีที่สถาบัน ZEW จะรายงานออกมาในวันนี้ (18/2) โดยคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นอาจจะดิ่งตัวลงอย่างรุนแรงมาอยู่ที่ระดับ 21.5 หลังจากขึ้นไปแตะระดับ 26.7 ในเดือนมกราคม ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0824-1.0837 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0829/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/2) ที่ระดับ 109.82/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/2) ที่ระดับ 109.81/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังนับว่าอยู่ในระดับที่แข็งค่า ภายหลังนักลงทุนยังคงถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยและการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง จากความกังวลในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (โคโรน่า) โดยรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากกลุ่มประเทศ G20 จะประชุมร่วมกันที่กรุงริยาดห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในวันที่ 22-23 ก.พ.นี้ เพื่อหารือเรื่องความเสี่ยงที่มีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าวทำให้การค้าขายและห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงักลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.67-109.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือน ก.พ.ของยูโรโซนโดย ZEW (18/2) ดัชนีภาคการผลิต Empire State Index ของสหรัฐเดือน ก.พ. (18/2), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ม.ค. ของอังกฤษ (19/2), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ม.ค.ของสหรัฐ (19/2), การอนุญาตก่อสร้างเดือน ม.ค.ของสหรัฐ (19/2), รายงานการประชุม FOMC Meeting (20/2), รายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (20/2), รายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (20/2), ดัชนีภาคการผลิตจากเฟดฟิลาเดเฟีย (20/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค. ของสหรัฐ (20/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการของยูโรโซน (21/2), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนเดือน ม.ค. (21/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการ เดือน ก.พ. (21/2), ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐ เดือน ม.ค. (21/2)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.10/-1.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.80/+4.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ